วิกฤติพลังงาน-อาหารยังไม่จบ แนะไทยชูบทบาท “ครัวโลก” สร้างรายได้ภาคส่งออก

วิกฤติพลังงาน

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สภาวิจัยแห่งชาติ สาขาเศรษฐศาสตร์ แสดงความเห็นถึง ผลกระทบของพัฒนาการล่าสุดของสงครามยูเครนและระบอบปูตินรัสเซียว่า จะเกิดวิกฤตการณ์ราคาน้ำมันและการขาดแคลนอาหารโลกระลอกใหม่ได้หากมีการขยายวงของสงครามระบอบปูตินรัสเซีย เป็นสงครามยุโรป โดยขณะนี้ยังไม่มีสัญญาณใดที่คู่ความขัดแย้งในสงครามยูเครนจะเปิดการเจรจาสันติภาพ

วิกฤติพลังงาน

สำหรับข้อเสนอ 12 ข้อของจีนเพื่อยุติสงครามและสร้างสันติภาพ เป็นข้อเสนอที่ดี แต่ไม่มีผลในทางปฏิบัติจนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในรัสเซีย ในนาโต้ ในสหรัฐอเมริกา อันนำสู่การเปลี่ยนแปลงนโยบายสงครามในยูเครน หากจีนยังรักษาท่าทีโดยไม่แสดงการสนับสนุนรัสเซียอย่างแจ้งชัด สงครามจะยังไม่ลุกลาม

ด้านวิกฤตการณ์ราคาพลังงานในยุโรปบรรเทาลงบ้าง จากแหล่งพลังงานจากนอร์เวย์ สหรัฐอเมริกา และการ์ตา ชดเชยพลังงานจากรัสเซีย การลดกำลังการผลิตและลดการส่งออกจึงไม่มีผลต่อยุโรปมากนัก การเปิดประเทศของจีน ทำให้อุปสงค์ต่อพลังงานโลกเพิ่มสูงขึ้น อาจกระตุ้นให้เกิดปัญหาราคาพลังงานเพิ่มสูงรอบใหม่ได้ แต่ระดับราคาน้ำมันดิบ (Crude Oil) ไม่น่าจะกลับไปอยู่ในระดับราคาน้ำมันดิบ (Crude Oil) 110-117 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลได้เช่นในช่วงเดือนมีนาคมปีที่แล้ว

เมื่อปีที่แล้ว วิกฤตการณ์อาหารโลกอันเป็นผลจากสงครามยูเครนและภัยแล้ง ทำให้ 30 กว่าประเทศระงับการส่งออกอาหาร แต่สถานการณ์ปีนี้ดีขึ้นบ้าง บางประเทศยกเลิกมาตรการระงับส่งออกอาหารไปแล้ว การจำกัดและระงับการส่งออกอาหารในประเทศต่างๆกว่า 30 ประเทศเมื่อปีที่แล้ว เป็นการแก้ปัญหาภายในประเทศตัวเอง แต่ทำให้ปัญหาวิกฤตการณ์อาหารโลกมีความซับซ้อนมากขึ้น ต้นทุนการแก้ปัญหาสูงขึ้นและไม่เกิดประสิทธิภาพ

สงครามทำให้พื้นที่การผลิตข้าวสาลีและธัญพืชได้รับความเสียหาย และไม่สามารถทำการเพาะปลูกได้ รวมทั้งไม่สามารถส่งออก โดยรัสเซียกับยูเครนเป็น 2 ประเทศที่มีมูลค่าการส่งออกข้าวสาลีประมาณ 25-30% ของมูลค่าการค้าข้าวสาลีทั่วโลก ทำให้ประเทศนำเข้าข้าวสาลีอย่างไทย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อียิปต์ โมร็อกโก และเลบานอน ต้องมองหาประเทศอื่นมาแทนที่รัสเซียและยูเครน

นายอนุสรณ์ กล่าวว่า สงครามยูเครนที่ยืดเยื้อต่อไปในปีนี้ อาจไม่ได้ทำให้ราคาอาหารพุ่งขึ้นไปมากเหมือนปีที่แล้ว เนื่องจากได้มีการสร้างกลไกให้มีการส่งออกธัญพืชออกจากยูเครนได้ อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากสงครามยืดเยื้อในยูเครนทำให้พื้นที่เกษตรกรรมจำนวนมากได้รับความเสียหาย และยังไม่อยู่ในภาวะที่เข้าฟื้นฟูได้ในหลายพื้นที่ เพราะยังมีการต่อสู้กันอยู่

ภาวะดังกล่าว ทำให้สมาชิกอียูบางประเทศ รวมทั้งสหราชอาณาจักร เกิดภาวะการขาดแคลนอาหารจากภัยแล้ง แหล่งผลิตอาหารนำเข้าสำคัญของอังกฤษ และผลกระทบสงครามยูเครน จนกระทั่งต้องมีโควตาในการซื้ออาหารตามซูเปอร์มาร์เก็ต และมีมาตรการปันส่วนอาหารกันแล้ว ซึ่งปัญหาการขาดแคลนอาหารในยุโรป ส่งผลบวกต่อธุรกิจอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารส่งออกของไทย

ความมั่นคงทางอาหารย่ำแย่ที่สุดในรอบหลายทศวรรษเมื่อปีที่แล้วอาจดำเนินต่อไป หากสงครามขยายวงและยืดเยื้อต่อ แต่ปีนี้ ปัญหาจะลุกลามมาที่ประเทศพัฒนาแล้วในยุโรปมากขึ้น ปัญหาวิกฤติอาหารและวิกฤติพลังงานมีความเชื่อมโยงกัน ส่งผลกระทบต่อประชากรโลกระดับหลายพันล้านคน แม้นไม่มีสงครามยูเครน ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ และภาวะโลกร้อนเป็นเรื่องระยะยาว ภัยแล้ง และอุทกภัยครั้งใหญ่ จะทำลายพื้นที่ทางการเกษตร

“ภาวะดังกล่าว ยังกดดันให้ประเทศต่างๆ แสวงหาพลังงานหมุนเวียน และพลังงานสะอาดมากขึ้น ยุทธศาสตร์ความมั่นคงทางด้านอาหารและพลังงาน จึงมีความสำคัญมากต่อหลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศนำเข้าอาหาร และสินค้าเกษตรและต้องนำเข้าพลังงานสุทธิ” นายอนุสรณ์ ระบุ
พร้อมมองว่า การระงับส่งออกอาหารและกักตุนอาหาร จะยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่องในปีนี้ การเปิดให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนในภาคเกษตรกรรมหรือกิจการพลังงานจึงต้องดำเนินการโดยยึดผลประโยชน์และความมั่นคงทางด้านอาหารและพลังงานของประเทศเป็นสำคัญ การเปิดเสรีทางการค้าเกี่ยวกับสินค้าอาหารจะชะงักงันไประยะหนึ่ง สถานการณ์น่าจะยืดเยื้อไปถึงกลางปี 2567 และดัชนีราคาอาหารโลก ไม่น่าจะกลับไปสู่ระดับต่ำกว่า 100 เช่นที่เคยเกิดขึ้นในช่วงปี 2558-2563

นายอนุสรณ์ มองว่า สถานการณ์เช่นนี้เป็นโอกาสที่ดีของภาคส่งออกอาหารและสินค้าเกษตรของไทย กรณีของไทยเราไม่มีความจำเป็นต้องกำหนดโควตาหรือระงับการส่งออก แต่เราควรเร่งส่งออกหากผลิตเหลือใช้เหลือบริโภคจำนวนมาก และควรจัดสรรงบประมาณปี 2566-2567 เพิ่มเติมให้กับภาคเกษตรกรรมและภาคการผลิตอาหาร ในการลงทุนวิจัยลงทุนพัฒนาพันธุ์เพื่อให้ผลผลิตต่อไร่เพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งเดินหน้าสู่การเป็นครัวของโลก เป็นศูนย์กลางภาคเกษตรกรรมคุณภาพสูงของโลก นอกจากนี้ ไทยควรมีบทบาทเพิ่มขึ้นในองค์การอาหารโลก เพื่อขจัดความหิวโหยและการเข้าถึงอาหารอันเป็นปัจจัยพื้นฐานของมนุษย์

ความต้องการสินค้าอาหารหลายชนิดจากไทยจะเพิ่มขึ้น ทดแทนการส่งออกที่หายไปจากประเทศที่ระงับการส่งออก และจะขายได้ราคาดีขึ้น อย่างไรก็ตาม มีธัญพืชบางตัว วัตถุดิบผลิตอาหารบางอย่างที่เราต้องนำเข้าก็จะได้รับผลกระทบ ของอาจแพงขึ้นมาก และ อาจขาดแคลนได้ เป็นปัญหาของโลกโดยรวม

ทั้งนี้ โดยภาพรวมประเทศไทยจะได้ประโยชน์จากรายได้ส่งออกอาหารเพิ่มขึ้นก้าวกระโดดในช่วงนี้ ขณะเดียวกัน ราคาอาหารและค่าครองชีพในประเทศจะแพงขึ้นไปจนถึงปลายปีนี้ คาดว่ารายได้จากภาคส่งออกอาหารและสินค้าเกษตรจะเติบโตอย่างก้าวกระโดด ดังนั้นรัฐควรหามาตรการหรือกลไกที่ทำให้รายได้เหล่านี้กระจายไปสู่ผู้ผลิตและเกษตรกรอย่างเป็นธรรม ส่วนผู้ที่อาจได้รับผลกระทบจากอาหารแพง คือ คนจน ครอบครัวผู้มีรายได้น้อย เพราะค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับอาหารจะคิดเป็นสัดส่วน 50-70% ของรายได้ของคนกลุ่มนี้ คนที่กระทบหนักสุด คือ คนจนเมือง รัฐอาจต้องจัดมาตรการสวัสดิการช่วยเหลือในรูปแบบต่างๆ เฉพาะกลุ่มที่เดือดร้อนมาก เช่น คูปองอาหาร เงินช่วยเหลือค่าครองชีพเพิ่มเติม เป็นต้น